ประวัติและวิสัยทััศน์


ประวัติวิทยาลัยเทคโนโลยีชัยบาดาล
         วิทยาลัยเทคโนโลยีชัยบาดาล ใช้อักษรย่อว่า ว.ท.ช. ชื่อเดิมโรงเรียนพณิชยการช่างเทคนิคลำนารายณ์ เป็นวิทยาลัยเอกชนประเภทอาชีวศึกษา ขนาดกลาง สังกัด สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ตั้งอยู่เลขที่ 426/4 หมู่ 6 ถนนท่าดินดำ ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตร 3 ปี เริ่มแรกเปิดทำการสอนแผนกเดียว คือ แผนกพาณิชยกรรม สาขาการบัญชี สาขางานการขาย โดยมี นายนิยม วรปัญญา เป็นผู้รับใบอนุญาต และนางรัชนี มนูพิพัฒน์พงศ์ เป็นครูใหญ่ มีจำนวน  นักเรียน 44 คน คณะครู 9 คน
พ.ศ. 2526 ได้รับอนุญาตให้ขยายชั้นเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ แผนกช่างอุตสาหกรรมเพิ่ม 3 สาขา คือสาขาช่างยนต์ สาขาช่างไฟฟ้ากำลังและสาขาช่างก่อสร้าง รับนักเรียนที่จบ ม.3, ม.ศ.3 หรือเทียบเท่าและ ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนพณิชยการลำนารายณ์ เป็นโรงเรียนพณิชยการช่างเทคนิคลำนารายณ์
พ.ศ. 2534 ได้รับอนุญาตให้ขยายชั้นเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (รอบบ่าย) ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการตลาด และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ รับนักเรียนที่จบ ปวช. 3
พ.ศ. 2535 ได้รับอนุญาตให้ขยายชั้นเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (รอบเช้า) ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการตลาด และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ รับนักเรียนที่จบ ปวช.3
พ.ศ. 2540 ได้รับอนุญาตให้ขยายชั้นเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (รอบเช้า–รอบบ่าย) ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ รับนักเรียนที่จบ ม.6, ม.ศ.5 หรือเทียบเท่า
พ.ศ. 2543 ได้ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันราชภัฏพระนคร เปิดสอนระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) เป็นศูนย์บริการการศึกษา ณ โรงเรียนพณิชยการช่างเทคนิคลำนารายณ์
พ.ศ. 2544 เป็นศูนย์บริการการศึกษาสถาบันราชภัฏพระนคร ณ โรงเรียนพณิชยการช่างเทคนิค ลำนารายณ์
พ.ศ. 2554 ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อโรงเรียน จากโรงเรียนพณิชยการช่างเทคนิคลำนารายณ์ ตามคำร้องที่ พ.ช.ร. 807/2554 เป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีชัยบาดาล เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554
ในปัจจุบัน วิทยาลัยเทคโนโลยีชัยบาดาล มีจำนวนนักศึกษา รวม 1,421 คน มีครูและบุคลากรจำนวน 83 คน
วิสัยทัศน์ของวิทยาลัย
         มุ่งพัฒนาผู้เรียน ให้มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นพลเมืองดี มีความภาคภูมิใจใน ความเป็นไทย รู้จักนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานกับเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมและปฏิบัติตนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข พัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถเต็มศักยภาพและพัฒนาวิทยาลัยให้มีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ จัดระบบบริหารการศึกษาให้ได้มาตรฐานการศึกษาของชาติ
ปรัญชา         ความรู้ คู่ คุณธรรม
* ความรู้ คู่ คุณธรรม หมายความว่า บุคคลในสังคมจะต้องมีความรู้ความสามารถและปฏิบัติตนเป็นคนดี *
คำขวัญ         ศึกษาให้รู้ คิดได้ทำได้ ประกอบอาชีพได้ สามัคคี มีวินัย กลัวบาป กลัวจน
สีประจำวิทยาลัย         สีเขียวเหลือง
                   สีเขียว หมายถึง ความเจริญงอกงาม สีเหลือง หมายถึง ความมีคุณธรรมประจำใจ ความร่มเย็นเป็นสุข
ต้นไม้ประจำวิทยาลัย          ต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูณ)
อัตลักษณ์ลูก ว.ท.ช.           “ ยิ้มง่าย ไหว้สวย อ่อนน้อม ถ่อมตน ”
เอกลักษณ์วิทยาลัย            “ทักษะดี มีคุณธรรม”

๙ 
บัญญัติข้อปฏิบัติลูกเขียวเหลือง
            ๑. ตั้งใจขยันหมั่นศึกษา
๒. เคารพครูอาจารย์ทุกแห่งหน
๓. กิริยาอ่อนน้อมถ่อมตน
๔. คุณธรรมเลิศล้นเป็นคนดี
๕. นิยมไทยใช้ของไทยด้วยใจภักดิ์
๖. อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้สดสี
๗. รักสะอาดรักวิทยาลัยทุกนาที
๘. กตัญญูกตเวทีผู้มีพระคุณ
๙. ภูมิใจว่าเราคือลูกเขียว – เหลือง
นโยบายของวิทยาลัย
           ภายใต้ปรัชญาที่ว่า ความรู้ คู่ คุณธรรม ดังนั้นวิทยาลัยเทคโนโลยีชัยบาดาล จึงให้ความสำคัญกับเยาวชนเป็นอันดับแรก โดยมุ่งที่จะพัฒนา คือ
           1. ปลูกฝังและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และสติปัญญา มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรัก ความกตัญญูต่อสถาบันของตนเอง มีวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
               2.    ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้มีระเบียบวินัย เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ สร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย
              3. ส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย ตลอดจนความสำคัญของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติอันเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
               4.  ส่งเสริมผู้เรียนให้มีความสามารถเรียนรู้ในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
             5. ส่งเสริมด้านวิชาการ ปฏิบัติการ ค้นคว้าวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาสังคม ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นและมีทักษะพื้นฐานในการประกอบอาชีพต่อไป
                 6.   วิทยาลัยได้จัดการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐานและเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียนโดยใช้กระบวนการบริหารจัดการที่ครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วม
                 7.   ส่งเสริมผู้เรียน ให้รู้จักสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และใช้เทคโนโลยีอย่างประหยัด สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมยุคโลกาภิวัฒน์ได้อย่างมีความสุข
                   8. พัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถคิดแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพอย่างมั่นคง
                 9. วิทยาลัยจัดแหล่งเรียนรู้อย่างหลากหลายและเพียงพอที่จะให้ผู้เรียนได้ใช้เป็นแหล่งค้นคว้า หาความรู้ตามความถนัดและความสนใจ
              10. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมืออันดีระหว่างวิทยาลัยกับชุมชนในการพัฒนาการศึกษาและจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับท้องถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น